นาซ่าเปิดสถานีอวกาศ ISSให้รองรับนักท่องเที่ยวและใช้งานในเชิงพาณิชย์

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือนาซ่าประกาศแก้ไขกฏข้อบังคับให้สถานีอวกาศนานาชาติสามารถรองรับนักท่องเที่ยวอวกาศ โรงแรมอวกาศ รวมไปถึงภารกิจในเชิงพาณิชย์โดยบริษัทเอกชน เพื่อนำรายได้มาใช้บริหารจัดการสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และสามารถแบ่งสัดส่วนงบประมาณปกติที่ได้จากรัฐบาลไปใช้ในภารกิจส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์ในปี 2024

การเปิดสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและใช้งานในเชิงพาณิชย์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของของทรัพยากรต่าง ๆ ที่ใช้บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS นักท่องเที่ยวอวกาศมีค่าใช้จ่ายพื้นฐาน เช่น อาหาร น้ำ อากาศ ค่ารักษาพยาบาล ห้องน้ำและอื่น ๆ ประมาณ 1,120,000 บาทต่อวัน ค่าอินเทอร์เน็ตส่งข้อมูลกลับโลก 1,562 บาทต่อ 1 กิกะไบต์ ยังไม่รวมค่าเดินทางด้วยจรวดขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติอีกหลายร้อยล้านบาท โดยนาซ่าเปิดให้มีจำนวนเที่ยวบินสำหรับนักท่องเที่ยวอวกาศ 2 ครั้งต่อปีสามารถอาศัยบนสถานีอวกาศสูงสุดได้ 30 วัน คาดว่านักท่องเที่ยวอวกาศจะเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ภายในปี ค.ศ. 2020

สถานีอวกาศนานาชาติ ISS

สถานีอวกาศนานาชาติ ISS เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายประเทศโดยมีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือนาซ่าเป็นแกนนำ สถานีอวกาศแห่งนี้ใช้วิธีก่อสร้างโดยการเชื่อมต่อชิ้นส่วนสถานีอวกาศเรียกว่าโมดูลเข้าด้วยกัน ชิ้นส่วนโมดูลแรกเริ่มต้นส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ. 1998 และประกอบเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 2011 ปัจจุบันสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ใช้งานมาแล้วกว่า 20 ปี ก่อนหน้านี้ภารกิจอวกาศทั้งหมดที่ทำบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS มีจุดประสงค์เพื่อการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสำรวจอวกาศมากมาย

ยานอวกาศที่สามารถส่งนักท่องเที่ยวขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ

ปัจจุบันสหรัฐอเมริกากำลังพัฒนายานอวกาศของตัวที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้หลายลำเพื่อทดแทนการใช้งานกระสวยอวกาศที่ยกเลิกการใช้งานไปในปี ค.ศ. 2011 องค์การนาซ่าเลือกใช้การทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศรูปแบบใหม่และมีความหลากหลาย พัฒนายานอวกาศที่สามารถใช้งานซ้ำได้เพื่อประหยัดงบประมาณในการทำภารกิจต่าง ๆ

ยาน Crew Dragon จากบริษัท SpaceX

ยาน Crew Dragon หรือยาน Dragon 2 พัฒนาจากยาน Dragon 1 โดยบริษัท SpaceX ยานอวกาศลำนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 เมตร ความสูงประมาณ 8.1 เมตร สามารถรองรับนักบินอวกาศได้สูงสุด 7 คน สามารถเชื่อมต่อสถานีอวกาศได้นาน 210 วัน เดินทางขึ้นสู่อวกาศโดยใช้จรวด Falcon 9 และ Falcon Heavy ซึ่งเป็นจรวดรุ่นหลักของบริษัท SpaceX ขณะนี้ยาน Dragon 2 อยู่ในระหว่างการทดสอบเพื่อเตรียมการทดสอบส่งขึ้นสู่อวกาศพร้อมนักบินในช่วงปี ค.ศ. 2019

คลิปวิดีโออธิบายการทำงานของยาน Crew Dragon

อ่านเพิ่มเติม : ยาน Crew Dragon ภารกิจนำมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศของบริษัท SpaceX

ยาน CST-100 Starliner จากบริษัท Boeing

ยาน CST-100 Starliner พัฒนาโดยบริษัท Boeing ยานอวกาศลำนี้มีลักษณะเล็กกว่ายาน Crew Dragon เล็กน้อย ตัวยานมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4.5 เมตร ความสูงประมาณ 5 เมตรสามารถรองรับนักบินอวกาศได้สูงสุด 7 คน สามารถเชื่อมต่อสถานีอวกาศได้นาน 210 วัน เดินทางขึ้นสู่อวกาศโดยใช้จรวด Atlas V ที่พัฒนาโดยบริษัท United Launch Alliance ขณะนี้ยาน CST-100 Starliner อยู่ในระหว่างการทดสอบเพื่อเตรียมส่งขึ้นสู่อวกาศพร้อมนักบินในช่วงปี ค.ศ. 2019 เช่นเดียวกับยาน Crew Dragon

คลิปวิดีโออธิบายการทำงานของยาน CST-100 Starliner

อ่านเพิ่มเติม : ยาน Boeing CST-100 Starliner แคปซูลอวกาศขนส่งมนุษย์ขึ้นสู่สถานีอวกาศ

ยาน Orion จากบริษัท Lockheed Martin และ Airbus

ยาน Orion พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างบริษัท Lockheed Martin และ Airbus ยานอวกาศลำนี้มีลักษณะภายนอกเหมือนยาน Apollo ที่เคยนำมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์ในอดีต ตัวยาน Orion มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4.1 เมตร ความสูงประมาณ 5 เมตรสามารถรองรับนักบินอวกาศได้สูงสุด 6 คน เดินทางขึ้นสู่อวกาศโดยใช้จรวด SLS นอกจากเชื่อมต่อสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ยาน Orion ยังถูกออกแบบให้สามารถปฏิบัติภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์และดาวอังคารในอนาคต ขณะนี้ยาน Orion อยู่ในระหว่างการทดสอบเพื่อเตรียมส่งขึ้นสู่อวกาศแบบไร้นักบินในช่วงปี ค.ศ. 2020 เพื่อทำภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์

คลิปวิดีโออธิบายการทำงานของยาน Orion

อ่านเพิ่มเติม : นาซ่าทดสอบยานอวกาศ Orion ยานบังคับการที่จะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์และดาวอังคาร

ยาน Dream Chaser จากบริษัท Sierra Nevada

ยาน Dream Chaser จากบริษัท Sierra Naveda มีลักษณะแตกต่างจากยานอวกาศทั้ง 3 ลำข้างต้นโดยยาน Dream Chaser มีลักษณะคล้ายกระสวยอวกาศขนาดย่อส่วนแต่มีขีดความสามารถไม่เล็กตามขนาดของตัวยาน รองรับนักบินอวกาศได้สูงสุด 7 คนหลังจากทำภารกิจเสร็จสิ้นตัวยานเดินทางกลับโลกด้วยการร่อนลงจอดบนสถานีบินคล้ายกระสวยอวกาศ ขณะนี้ยาน Dream Chaser อยู่ในระหว่างการพัฒนาและเตรียมทดสอบส่งขึ้นสู่อวกาศแบบไร้นักบินอวกาศเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศ ISS ในปี ค.ศ. 2020

คลิปวิดีโออธิบายการทำงานของยาน Dream Chaser

อ่านเพิ่มเติม : ยาน Dream Chaser ยานขนส่งอวกาศยุคใหม่

ที่มาของข้อมูล

NASA Opens International Space Station to New Commercial Opportunities, Private Astronauts
Commercial and Marketing Pricing Policy
NASA is opening the space station to commercial business and more private astronauts
NASA releases ISS commercialization plan

Peerapat Chuejeen

Name : Peerapat Chuejeen "M" Tel : 086-5930737 E-mail : maspirecreation@gmail.com Facebook : www.facebook.com/peerapat.chuejeen Twitter : https://twitter.com/aspirecreation

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *