ยาน Dream Chaser ยานขนส่งอวกาศยุคใหม่
ยาน Dream Chaser ออกแบบและพัฒนาโดยบริษัท Sierra Nevada ประเทศสหรัฐอเมริกาตัวยานจัดอยู่ในกลุ่มของเครื่องบินอวกาศระดับวงโคจร (Orbital Space Plane) สามารถบรรทุกนักบินอวกาศหรือขนส่งสัมภาระขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS และเดินทางกลับโลกในลักษณะที่คล้ายกระสวยอวกาศรุ่นก่อนแต่มีขนาดเล็กกว่าประมาณ 3 เท่า ยาน Dream Chaser มีความยาวประมาณ 9 เมตร วงปีกกว้าง 7 เมตร ถูกออกแบบให้บรรทุกนักบินอวกาศได้ 2-7 คนตามความแตกต่างของภารกิจสามารถปฏิบัติการในวงโคจรโลกระดับต่ำ (Low-Earth Orbit)
ยาน Dream Chaser สามารถใช้งานซ้ำได้ ( Reusable Space Vehicle ) ประมาณ 15 เที่ยวบินอวกาศ Dream Chase ใช้ระยะทางวิ่งรันเวย์ลงจอดความยาว 2.4 กิโลเมตรซึ่งเป็นระยะทางรันเวย์ที่น้อยกว่าเครื่องบินทั่วไปรวมไปถึงกระสวยอวกาศ
ยาน Dream Chaser แบ่งออกเป็นยาน 3 รุ่นประกอบด้วย รุ่น Cargo System (Uncrewed) ถูกใช้ในภารกิจจัดส่งทรัพยากรขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ รุ่น Space System (Crewed) ถูกใช้ในภารกิจส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ และสุดท้ายรุ่น Multi-Mission Solutions ถูกใช้ในภารกิจความร่วมมือด้านอวกาศกับประเทศต่าง ๆ โดยยานสามารถปรับแต่งได้หลากหลายตามความเหมาะสมของภารกิจ
จุดเด่นของยาน Dream Chaser คือสามารถเดินทางกลับโลกและร่อนลองจอดเหมือนกระสวยอวกาศ พร้อมความยืดหยุ่นสามารถใช้งานร่วมกับจรวดจากหลายบริษัทเช่น Atlas V, Ariane 5 หรือแม้แต่จรวด Falcon Heavy Rocket อย่างไรก็ตาม Dream Chaser ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในภารกิจวงโคจรระดับต่ำไม่สามารถทำภารกิจในอวกาศระดับลึกเช่น ภารกิจสำรวจดวงจันทร์และภารกิจสำรวจดาวอังคาร
คลิปจำลองภารกิจ Dream Chaser Space System
ประวัติยาน Dream Chaser
แนวคิดการพัฒนายาน Dream Chaser สามารถสืบย้อนไปได้ถึงการพัฒนายานอวกาศขนาดเล็กยุค 1957-1960 ซึ่งในขณะนั้นเป็นยุคของสงครามเย็นมีการแข่งขันด้านอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ยาน Dream Chaser มีลักษณะที่คล้ายกับแนวคิดยานอวกาศในอดีต เช่น ยาน X-20 Dyna-Soar ของกองทัพอากาศสหรัฐ , Northrop M2-F2 ที่พัฒนาโดยบริษัท Northrop , Martin X-23 PRIME ที่พัฒนาโดยบริษํท Martin Marietta ซึ่งปัจจุบันคือบริษัท Lockheed Martin , HL-20 ที่พัฒนาโดยนาซ่า ส่วนทางสหภาพโซเวียตในขณะนั้นพัฒนายานอวกาศขนาดเล็กชื่อรุ่น Mikoyan-Gurevich MiG-105
การพัฒนายาน Dream Chaser ใช้เวลาพัฒนากว่า 10 ปีเทคโนโลยีบางส่วนเกิดจากความร่วมมือระหว่างหลายบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น บริษัท Aerojet , Lockheed Martin และมหาวิทยาลัยโคโรลาโด้ โดยบริษัท Sierra Nevada เป็นหัวหอกหลักในการพัฒนา บริษัทประสบความสำเร็จในการทดสอบเครื่องยนต์จรวดของยาน Dream Chaser ครั้งแรกเมื่อปี 2010 บริษัท Sierra Nevada ได้รับเงินทุนจากนาซ่าหลังบรรลุข้อตกลงพัฒนายาวอวกาศกับนาซ่า (NASA’s Commercial Crew Program) โดยยาน Dream Chaser จะทำภารกิจขนส่งทรัพยากรณ์และนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS ตามกำหนดการในช่วงปี 2019
สำหรับแผนการส่งยาน Dream Chaser ขึ้นสู่อวกาศบริษัท Sierra Nevada เลือกใช้งานจรวด Atlas V rocket จากบริษัท United Launch Alliance นอกจากนี้ยังมีแผนการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการของบริษัทที่ศูนย์อวกาศ Kennedy Space Center โดยใช้ฐานปล่อยยานอวกาศหมายเลข 41 (Space Launch Complex 41) อยู่ทางด้านทิศใต้ของฐานปล่อยจรวด LC-39A ที่บริษัท SpaceX ใช้ปล่อยจรวด Falcon 9
คลิปการทดสอบการบินและการลงจอดยาน Dream Chaser
แนวคิดยานอวกาศขนาดเล็กเป็นแนวคิดที่หลายคนอยากให้เกิดขึ้นจริงมานานแล้ว แนวคิดเครื่องบินอวกาศระดับวงโคจร (Orbital Space Plane) มีขึ้นในยุค 60 สามารถช่วยประหยัดต้นทุนในการขนส่งทรัพยากรณ์และนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS ซึ่งปัจจุบันต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศรัสเซียที่ต้นทุนที่ต้องจ่ายมากถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ ยาน Dream Chaser จะรับภารกิจสำคัญของนาซาร่วมกับยานอวกาศของบริษัทเอกชนรายอื่น เช่น SpaceX Dragon 2 , SpaceX BFR , Boeing CST-100 Starliner , Lockheed Martin Orion Spacecraft ยุคการแข่งขันด้านอวกาศยุคใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นมากระยะหนึ่งแล้ว
ที่มาของข้อมูล
nasa.gov, en.wikipedia.org/wiki/Dream_Chaser, sncspace.com, space.com