กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมีกำหนดการส่งขึ้นสู่อวกาศโดยจรวด ​​Ariane 5 ในช่วงเดือนตุลาคมปี 2018 กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์มีชื่อเดิมว่า Next Generation Space Telescope ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น James Webb Space Telescope ในปี 2002 เพื่อเป็นเกียรติให้กับ James E. Webb อดีตผู้บริหารนาซ่าในช่วงปี 1961-1968

ข้อมูลทั่วไปของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การนาซา กับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) องค์การอวกาศแคนาดา (CSA) และบริษัทชั้นนำด้านอวกาศเช่น Northrop Grumman , Lockheed Martin , Orbital ATK และมหาวิทยาลัยอริโซน่า

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์มีน้ำหนักประมาณ 6.2 ตัน ใช้กระจกเงาขนาด 6.5 เมตร จัดอยู่ในประเภทของกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้ความยาวคลื่นอินฟราเรดประกอบด้วยกระจกหลักที่สร้างจากเบริลเลียม (Beryllium) เคลือบด้วยทองคำขาวจำนวน 18 ชิ้นและกระจกรองอีก 3 ชิ้น ตัวกล้องจะถูกวางไว้บนแผงกั้นแสงอาทิตย์ Sunshield จำนวน 5 ชั้น ขนาดกว้าง 21×14 เมตรเพื่อป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์และรักษาอุณหภูมิของสเปกตรัมอินฟราเรดในตัวกล้องไว้ที่ -220 องศา

นาซ่ามีกำหนดการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ไปอยู่ในจุดที่เรียกว่าจุดลากรานจ์ (Lagrangian point) หรือ L2 เป็นจุดที่อยู่นอกวงโคจรดวงจันทร์ระยะห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตรและห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 151.5 ล้านกิโลเมตร แรงโน้มถ่วงมีความเสถียรวัตถุที่อยู่ในตำแหน่งนี้ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงในการโคจร กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์มีระยะเวลาปฏิบัติงานประมาณ 10 ปี

ตำแหน่งลากรานจ์ (Lagrangian point) หรือ L2

เป้าหมายของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์จะมีบทบาทสำคัญในการสำรวจอวกาศแทนที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) เป้าหมายหลักของกล้องตัวนี้ เพื่อศึกษาช่วงแรกของการกำเนิดจักรวาล การระเบิดของ Big Bang การศึกษาแสงอาทิตย์ที่สามารถเอื้อต่อการดำรงชีวิตของดาวเคราะห์ตลอดจนศึกษาวิวัฒนาการของระบบสุริยะ โดยสามารถแบ่งเป้าหมายสำคัญทางวิทยาศาสตร์ออกเป็น 4 อย่างด้วยกัน

1. การกำเนิดของเอกภพ จุดกำเนิดของแสง กล้องสามารถจับลำแสงอินฟราเรดย้อนอดีตกลับไปได้ถึง 13.5 พันล้านปีแสง เพื่อศึกษาการถือกำเนิดของกาแลคซีในเอกภพยุคแรก
2. การรวมตัวกันของกาแลคซี่ เนื่องจากกล้องสามารถจับลำแสงอินฟราเรดทำให้สามารถเปรียบเทียบแสงจากกาแลคซี่ต่าง ๆ ซึ่งใช้เวลาก่อตัวนานกว่าหลายพันล้านปี
3. การกำเนิดของดาวฤกษ์และระบบดาวเคราะห์ กล้องสามารถมองผ่านเมฆฝุ่นขนาดมหึมาในอวกาศได้ซึ่งช่วยให้มองเห็นจุดกำเนิดของระบบดาวเคราะห์
4. ระบบดาวเคราะห์และต้นกำเนิดของชีวิต กล้องสามารถมองศึกษาสภาพชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและอาจนำไปสู่การค้นพบดาวเคราะห์ที่มีสภาพเอื้อต่อการดำรงชีวิต รวมถึงการศึกษาดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะของเราด้วย

คลิปแนะนำโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์

ที่มาของข้อมูล
jwst.nasa.gov , en.wikipedia.org/wiki , flickr.com , nasa.gov/mission_pages/webb

Peerapat Chuejeen

Name : Peerapat Chuejeen "M" Tel : 086-5930737 E-mail : maspirecreation@gmail.com Facebook : www.facebook.com/peerapat.chuejeen Twitter : https://twitter.com/aspirecreation