ซูเปอร์บลูมูนสีเลือด (Super Blue Blood Moon) ครั้งแรกในรอบ 152 ปี คืนวันที่ 31 มกราคมนี้

วันที่ 31 มกราคมนี้มีเหตุการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ นักดาราศาสตร์คำนวนว่าจะเกิดปรากฏการณ์ 3 อย่าง คือ จันทรุปราคาเต็มดวง ซูเปอร์มูน และบลูมูน (Super Blue Blood Moon) พร้อมกันครั้งแรกในรอบ 152 ปี สามารถมองเห็นปรากฏการณ์นี้ได้ทั่วประเทศไทย โดยให้สังเกตดวงจันทร์ที่จะอยู่ทางด้านทิศตะวันออกตั้งแต่เวลา 17.51 น. ดวงจันทร์จะเริ่มโคจรเข้าสู่เงาของโลกและเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงในเวลา 19.51 น. ดวงจันทร์จะพ้นจากเงาโลกเวลา 23.08 น. นอกจากมองเห็นปรากฏการณ์นี้ได้จากประเทศไทยพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย ออสเตเรีย อเมริกาเหนือและรัสเซียก็สามารถมองเห็นปรากฏการณ์นี้ได้

บลัดมูน “พระจันทร์สีเลือด” (Blood Moon) ปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลกและดวงจันทร์โคจรอยู่ในแนวระนาบเดียวกันทำให้ดวงจันทร์ถูกเงาของโลกบังและกลายเป็นสีแดง เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์เกิดการหักเหของแสงเมื่อเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศโลกทำให้แสงสีแดงถูกส่งไปในตำแหน่งที่พอดีกับดวงจันทร์

ซูเปอร์มูน (Supermoon) คือ ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลกทำให้ดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย โดยปกติแล้วโลกและดวงจันทร์จะโคจรห่างกันประมาณ 354,000 ถึง 410,000 กิโลเมตร วงโคจรเป็นรูปวงรี

บลูมูน (Blue Moon) คือ ดวงจันทร์เต็มดวงรอบที่สองในเดือนเดียวกันโดยปกติแล้วดวงจันทร์เต็มดวงเกิดขึ้นปีล่ะ 12 ครั้งเฉลี่ยเดือนล่ะ 1 ครั้ง แต่เนื่องจากรอบการโคจรของดวงจันทร์มี 29.53 วันต่อเดือนแต่บางเดือนของโลกที่มี 31 วันทำให้เกิดปรากฏการณ์บลูมูนขึ้น 2 ครั้ง (Double Blue Moons) เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นประมาณ 19 ปี ครั้งล่าสุดที่เกิดบลูมูน 2 ครั้งในหนึ่งปีคือ พ.ศ. 2542

กิจกรรมร่วมชมจันทรุปราคากับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เตรียมจัดสังเกตการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ในวันที่ 31 มกราคม 2561 ตั้งแต่เวลา 17:00-22:00 น. ผู้สนใจร่วมชมดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากชนิด 4 จุดสังเกตการณ์หลัก เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และเครือข่ายโรงเรียนอีกกว่า 260 แห่งทั่วประเทศ

พร้อมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านเฟสบุ๊คของสถาบันฯ ที่ www.facebook.com/NARITPage ในเวลา 18:30-22:00 น. เผยครั้งนี้พิเศษเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงช่วงที่ดวงจันทร์โคจรใกล้โลกและตรงจันทร์เพ็ญครั้งที่สองของเดือน จะเห็นจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หรือเรียกว่า “ซูเปอร์บลูบลัดมูน”

ที่มาของข้อมูล
bbc.com, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

Peerapat Chuejeen

Name : Peerapat Chuejeen "M" Tel : 086-5930737 E-mail : maspirecreation@gmail.com Facebook : www.facebook.com/peerapat.chuejeen Twitter : https://twitter.com/aspirecreation

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *