จรวด Falcon Heavy ก้าวสำคัญในการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศของบริษัท SpaceX

จรวด Falcon Heavy หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Falcon 9 Heavy พัฒนาโดยบริษัท SpaceX กำลังจะได้รับการทดสอบปล่อยขึ้นสู่อวกาศในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จรวด Falcon Heavy ถูกพัฒนาต่อจากจรวด Falcon 9 ที่ประสบความสำเร็จในหลายภารกิจอวกาศของบริษัท SpaceX โดยจรวด Falcon 9 นี้เป็นจรวดรุ่นแรกของโลกที่สามารถเดินทางกลับมาจอดบนโลกหลังจากเสร็จภารกิจ จรวด Falcon Heavy มีการปรับปรุงในด้านของประสิทธิภาพ ความสามารถบรรทุกน้ำหนัก รวมไปถึงความสามารถในขนส่งยานอวกาศ Dragon 2 พร้อมมนุษย์อวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ภารกิจดวงจันทร์และภารกิจดาวอังคารในอนาคต

จรวด Falcon Heavy

แนวคิดการสร้างจรวด Falcon Heavy มีขึ้นในช่วงปี 2000 แต่ทางบริษัท SpaceX เปิดแผยแผนการสร้างจรวดรุ่นนี้อย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเมษายนปี 2011 จรวด Falcon Heavy จะใช้เทคโนโลยีจรวด Falcon 9 โดยเชื่อมต่อท่อนจรวด Falcon 9 จำนวน 3 ท่อนเพื่อทำงานร่วมกัน ตามแผนการในช่วงแรกนั้นบริษัท SpaceX เริ่มทดสอบปล่อยจรวด Falcon Heavy ขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกในช่วงปี 2013 บริเวณฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์กแต่เกิดข้อผิดพลาดหลายอย่างทำให้แผนการทดสอบต้องเลื่อนมาเป็นช่วงปลายปี 2017 ความล่าช้าส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดพลาดของการพัฒนาจรวด Falcon 9 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อแผนการพัฒนาจรวด Falcon Heavy

Falcon Rocket Family

ข้อมูลพื้นฐานจรวด Falcon Heavy

จรวด Falcon Heavy มีลักษณะเป็นการทำงานร่วมกันของจรวด Falcon 9 จำนวน 3 ท่อนเพื่อสร้างแรงยกทรงพลังขนส่งยานอวกาศเดินทางขึ้นสู่วงโคจรเหนือพื้นโลกหรือในภารกิจสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร จรวด Falcon Heavy สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากกว่าจรวด Delta IV Heavy ประมาณ 2 เท่า โดยจรวด Falcon Heavy มีต้นทุนการส่งจรวดที่น้อยกว่าประมาณหนึ่งในสามของต้นทนที่ใช้สำหรับจรวด Delta IV Heavy นอกจากนี้หลังทำภารกิจเสร็จสิ้นจรวด Falcon Heavy ยังสามารถเดินทางกลับมาลงจอดบนโลกเพื่อใช้งานซ้ำในแบบเดียวกับจรวด Falcon 9

ส่วนประกอบของจรวด Falcon Heavy

  • ส่วน Payload ส่วนบนสุดของจรวดถูกออกแบบให้สามารถบรรทุกยานอวกาศ Dragon 2 พร้อมนักบินอวกาศได้สูงสุด 7 คน
  • ส่วน Second Stage ประกอบด้วยเครื่องยนต์ Merlin Engine จำนวน 1 เครื่องถูกออกแบบให้มีหน้าที่ผลักดันยานอวกาศไปยังวงโคจรหลังแยกตัวออกจากจรวดส่วน First Stage
  • ส่วน First Stage ประกอบด้วยจรวดหลัก 3 ท่อนใช้เครื่องยนต์จรวด Merlin Engines ทั้งหมด 27 เครื่องบรรทุกเชื้อเพลิง Liquid Oxygen สร้างพลังยก 5.13 ล้านปอนด์หลังจรวดด้านข้าง 2 ท่อนหมดเชื้อเพลิงจะแยกตัวออกและเดินทางกลับโลกจรวดแกนกลางหลักจะรับหน้าที่ผลักดันจรวดต่อไป

จรวด Falcon Heavy มีความสูงทั้งหมดประมาณ 70 เมตร จรวดทั้งสามท่อนกว้างรวมกันประมาณ 12 เมตร ความสามารถในการบรรทุกน้ำหนักขึ้นอยุ่กับภารกิจ ในภารกิจส่งยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำของโลก (LEO) หรือระดับความสูงระหว่าง 160-2000 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลกจรวด Falcon Heavy สามารถบรรทุกยานอวกาศน้ำหนักประมาณ 64 ตัน ในภารกิจส่งยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจร GTO หรืออีกชื่อหนึ่งคือ วงโคจรโฮมันน์ (Hohmann orbit) จรวด Falcon Heavy สามารถบรรทุกยานอวกาศน้ำหนักประมาณ 27 ตัน ความสามารถในการขนส่งยานอวกาศน้ำหนักมากขนาดนี้ทำให้จรวด Falcon Heavy เป็นจรวดที่ทรงพลังมากที่สุดในโลกหากไม่นับจรวด Saturn V ที่เคยทำภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์เมื่อปี 1973

เครื่องยนต์จรวด Merlin Engine

เครื่องยนต์จรวด Merlin Engine เป็นเครื่องยนต์ที่พัฒนาโดยบริษัท SpaceX ใช้งานกับจรวด Falcon 1 , Falcon 9 และ Falcon Heavy ใช้เชื้อเพลิง RP-1 น้ำมันก๊าด เผาไหม้ร่วมกับ Liquid oxygen ออกซิเจนในรูปของเหลวอุณหภูมิต่ำ เครื่องยนต์จรวดถูกออกแบบให้รองรับการเดินทางกลับมาลงจอดบนโลกและสามารถใช้งานซ้ำได้ ปัจจุบันเครื่องยนต์จรวด Merlin Engine ถูกพัฒนามาถึงรุ่น Merlin 1D Vacuum ซึ่งจะถูกใช้กับจรวด Falcon Heavy ในส่วนของ Second Stage

คลิปจำลองการส่ง Falcon Heavy

ภารกิจของจรวด Falcon Heavy

จรวด Falcon Heavy มีภารกิจสำคัญถูกวางเอาไว้ล่วงหน้าถึงปี 2022 โดยในช่วงปลายปี 2017 จะมีการทดสอบปล่อยจรวด Falcon Heavy แบบไม่มีนักบินอวกาศควบคุมขึ้นสู่วงโคจรของโลก ในช่วงปี 2018 จะทำภารกิจส่งดาวเทียว Arabsat 6A ของประเทศซาอุดีอาระเบียขึ้นสู่วงโคจรของโลกและภารกิจปล่อยดาวเทียมให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงปลายปี 2018 จะทำภารกิจแรกในการส่งยาน Dragon 2 พร้อมนักบินอวกาศจำนวน 2 คนเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์และเดินทางกลับโลก

ที่มาของข้อมูล
spacex.com, en.wikipedia.org

Peerapat Chuejeen

Name : Peerapat Chuejeen "M" Tel : 086-5930737 E-mail : maspirecreation@gmail.com Facebook : www.facebook.com/peerapat.chuejeen Twitter : https://twitter.com/aspirecreation