เสวนาดาราศาสตร์ “Mission to Mars ปฏิบัติการสู่ดาวอังคาร”
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดเสวนาดาราศาสตร์ “Mission to Mars ปฏิบัติการสู่ดาวอังคาร” วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมี ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติร่วมพูดคุยถึงความก้าวหน้าเทคโนโลยีดาราศาสตร์และอวกาศสู่การสำรวจดาวอังคาร
งานเสวนาข้อมูลดาวอังคารที่ดีที่สุดงานหนึ่งภายในงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ บริเวณงานด้านนอกห้องประชุมมีการจัดนิทรรศการข้อมูลระบบสุริยะจักรวาลและข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับดาวอังคาร ส่วนบริเวณห้องประชุมสามารถรองรับผู้ร่วมเสวนาได้ประมาณ 300 คน
ข้อมูลน่าสนใจของดาวอังคาร
ประเด็นน่าสนใจในงานเสวนาในครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยข้อมูลพื้นฐานของดาวอังคาร แร่ธาตุ บรรยากาศ ตำแหน่งในระบบสุริยะของดาวอังคารอยู่ในเขตที่เหมาะกับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ฤดูกาลของดาวอังคารที่มีลักษณะการเกิดคล้ายกับฤดูกาลบนโลก แรงโน้มถ่วงของดาวอังคารมีค่าประมาณ 40% ของแรงโน้มถ่วงบนโลก ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์อวกาศน้ำหนัก 100 กิโลกรัมเมื่อชั่งน้ำหนักบนโลกแต่เมื่อชั่งน้ำหนักบนดาวอังคารจะมีน้ำหนักเพียงแค่ 40 กิโลกรัม
ดาวอังคารเป็นดาวแห่งพายุฝุ่น พายุฝุ่นบนดาวอังคารจะปกคลุมผิวดาวเกือบทั้งหมดยกเว้นบริเวณบางส่วนของภูเขาไฟโอลิมปัส ภูเขาไฟที่สูงที่สุดในระบบสุริยะที่อยู่สูงเกินกว่าพายุฝุ่นจะส่งผลกระทบได้ การค้นพบน้ำในสภาพของแข็งบนดาวอังคารซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการว่าปริมาณน้ำแข็งมีมากถึงขนาดที่ว่าหากละลายทั้งหมดจะมีปริมาณน้ำปกคลุมผิวดาวอังคารได้ทั้งดวง ส่วนน้ำในรูปของเหลวบนดาวอังคารนั้นเกิดขึ้นชั่วคราวและจะระเหิดหายไปอย่างรวดเร็ว
อุณหภูมิที่มีความแตกต่างกันระหว่างเวลากลางวันและกลางคืนบนดาวอังคาร ในตอนกลางวันดาวอังคารจะมีอุณภูมิสูงสุด 30 องศาเซลเซียสแต่ในเวลากลางคืนกลับมีอุณหภูมิติดลบมากถึง -140 องศาเซลเซียส
ยานสำรวจดาวอังคารแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
ปัจจุบันมีหลายประเทศส่งยานไปสำรวจดาวอังคาร เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอินเดีย ยานสำรวจดาวอังคารแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
– ยาน Orbiter ยานอวกาศในกลุ่มนี้จะถูกส่งไปโคจรรอบดาวอังคารไม่มีการลงจอดบนพื้นผิวมียานสำคัญ ๆ เช่น Mars Obiter , Maven , ExoMars Trace Gas Orbiter ส่วนยานอีกประเภทเรียกว่า
– ยาน Lander ยานอวกาศในกลุ่มนี้จะถูกส่งไปลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารแต่จะไม่สามารถขยับเปลี่ยนตำแหน่งได้มียานสำคัญ ๆ เช่น Phoenix , Insight
– ยาน Rover ยานมีลักษณะเป็นหุ่นยนต์รถสำรวจสามารถเคลื่อนที่ได้โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานนิวเคลียร์ยานสำคัญ ๆ เช่น Spirit และ Opportunity , Curiosity , Mars 2020
โครงการส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร
สำหรับโครงการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารมีหลายโครงการที่กำลังศึกษาวิจัยอยู่ เช่น โครงการ ESA Aurora Programme มีกำหนดการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารภายในปี 2033 โครงการ Nasa Constellations ที่จะส่งมนุษย์ไปดาวอังคารก่อนปี 2030 หรือแม้กระทั่งโครงการของบริษัทเอกชนอย่างบริษัท SpaceX ที่มีกำหนดการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารด้วยจรวด SpaceX BFR ในช่วงปี 2024-2028
กระบวนการ Terraforming of Mars
การเดินทางไปถึงดาวอังคารเป็นสิ่งที่ยากแต่สิ่งที่ยากกว่าคือ การอยู่อาศัยบนดาวอังคารโดยไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรที่ต้องส่งไปจากโลก ทำให้มีแนวคิดการใช้กระบวนการเปลี่ยนสภาพพื้นผิวดาวอังคารให้มีสภาพใกล้เคียงกับโลก รวมไปถึงปัญหาสนามแม่เหล็กที่เบาบางของดาวอังคารที่ส่งผลต่อการป้องกันรังสีจากดวงอาทิตย์ กระบวนการ Terraforming of Mars ที่น่าสนใจ เช่น การใช้ระเบิดนิวเคลียร์ละลายน้ำแข้งบนดาวอังคาร การใช้กระจกรวมแสงจากอวกาศ อย่างไรก็ตามกระบวนการ Terraforming of Mars ยังคงเป็นแค่แนวคิดอยู่ต้องใช้เวลาอีกหลายร้อยปีหรืออาจต้องใช้เวลาพัฒนาเทคโนโลยีอีกนับพันปี
เสวนาดาราศาสตร์ “Mission to Mars ปฏิบัติการสู่ดาวอังคาร” ที่ถูกจัดขึ้นในครั้งนี้ถือว่าเป็นงานเกี่ยวกับดาวอังคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศงานหนึ่ง หากมีการจัดในโอกาสต่อไปเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ในอนาคตอันใกล้นี้เราได้เข้าสู่ยุคของการแข่งขันด้านอวกาศครั้งใหม่นับจากการแข่งขันพัฒนาด้านอวกาศในช่วงสงครามเย็น ทำให้ประเด็นอวกาศจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในสังคมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
คลิปงานเสวนาดาราศาสตร์ “Mission to Mars ปฏิบัติการสู่ดาวอังคาร”
https://www.facebook.com/NARITpage/videos/1898989780164627/
ประมวลภาพงานเสวนาดาราศาสตร์ “Mission to Mars ปฏิบัติการสู่ดาวอังคาร”
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1899500053446933.1073742068.148300028566953&type=1&l=f1282f2402
ที่มาของข้อมูล
NARITpage