รีวิวเนื้อเรื่องภาพยนตร์เรื่อง First Man มนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์

ภาพยนตร์เรื่อง First Man ภาพยนตร์ชีวประวัตินีล อาร์มสตรองมนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์ความพยายามเดินทางไปดวงจันทร์ของทีมงานนาซ่าและการเสียสละของนักบินอวกาศที่ต้องอุทิศชีวิตให้กับการทำงานที่พวกเขาเชื่อว่าเพื่อมวลมนุษย์ชาติ คือ การเดินทางไปดวงจันทร์ให้สำเร็จก่อนสหภาพโซเวียต ภายใต้ความกดดันแรงบีบคั้นที่เกิดขึ้นในครอบครัว สื่อมวลชนในยุคสงครามเย็นของสังคมอเมริกัน อาจกล่าวได้ว่าภาพยนต์ First Man ค่อนข้างจะให้น้ำหนักกับเนื้อหาในแบบภาพยนตร์ชีวิตผสมกับวิทยาศาสตร์

ภาพยนตร์พยายามอธิบายความกดดันที่นักบินอวกาศได้รับโดยกว่าเนื้อหาจะเข้าสู่ภารกิจอะพอลโล 11 ที่เดินทางไปดวงจันทร์ก็เข้าสู่ช่วงท้าย ๆ ของเรื่องไปแล้ว โดยให้ความสำคัญกับรายละเอียดด้านเทคโนโลยีอวกาศของนาซ่าน้อยมาก ๆ และให้ความสำคัญกับชีวิตครอบครัวของนีล อาร์มสตรองสลับกับขั้นตอนต่าง ๆ ที่นีล อาร์มสตรองต้องพบเจอก่อนจะเดินทางไปดวงจันทร์

นักบินทดสอบเครื่องบิน North American X-15

(ภาพเหตุการณ์จริง) นีล อาร์มสตรอง กับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง North American X-15
(ภาพเหตุการณ์จริง) นีล อาร์มสตรอง กับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง North American X-15

ภาพยนตร์เรื่อง First Man เริ่มต้นด้วยฉากนักบินทดสอบนีล อาร์มสตรองกำลังทดสอบเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง North American X-15 ซึ่่งเครื่องบินทะยานขึ้นไปสูงเกือบหลุดออกไปนอกอวกาศจนเกือบถึงจุดที่ไม่สามารถกลับมายังโลกได้ (ตามเนื้อเรื่องในภาพยนตร์) แต่นีล อาร์มสตรองก็พลิกตัวเครื่องบินเพื่อให้ยานหมุนกลับมาลงจอดอย่างปลอดภัยได้สำเร็จ

การเสียชีวิตของลูกสาวลูกสาวคาเรน อาร์มสตรอง

ภาพยนตร์ถ่ายทอดเรื่องราวครอบครัวนีล อาร์มสตรองออกมาในรูปของชนชั้นกลางของอเมริกาในยุคนั้น การทุ่มเททำงานในช่วงนักบินทดสอบทำให้นีล อาร์มสตรองไม่ได้ใช้เวลากับครอบครัวมากนักรวมไปถึงการเสียชีวิตของลูกสาวคาเรน อาร์มสตรองด้วยโรคเนื้องอกในสมองตั้งแต่อายุได้ 2 ขวบทำให้นีล อาร์มสตรองเสียใจเป็นอย่างมากจนบางครั้งแอบนั่งร้องให้คนเดียวเมื่อคิดถึงลูกสาวที่จากไป

สมัครเข้าร่วมโครงการ Gemini

นีล อาร์มสตรองเข้าร่วมโครงการ Gemini ซึ่งโครงการนี้เป็นบันไดขั้นที่ 2 ของแผนการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ของนาซ่า บันได 3 ขั้นที่นาซ่าวางเอาไว้ประกอบด้วยบันไดขั้นที่ 1 โครงการ Mercury บันไดขั้นที่ 2 โครงการ Gemini และบันไดขั้นที่ 3 โครงการ Apollo เส้นทางการเป็นนักบินอวกาศของนีล อาร์มสตรองนั้นไม่ราบรื่นต้องผ่านการแข่งขันกับทหารชั้นหัวกะทิจากกองทัพต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา

(ภาพเหตุการณ์จริง) นีล อาร์มสตรองขณะอยู่บนยาน Gemini 8 หลังเดินทางกลับโลก
(ภาพเหตุการณ์จริง) นีล อาร์มสตรองขณะอยู่บนยาน Gemini 8 หลังเดินทางกลับโลก

อย่างไรก็ตามด้วยความพยายามและความเป็นคนที่ฉลาดของนีล อาร์มสตรองทำให้เขาได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการ Gemini โดยได้รับภารกิจแรกเป็นนักบินตัวสำรองของภารกิจ Gemini 5 ซึ่งมีนักบินตัวจริงเป็นกอร์ดอน คูเปอร์ และพีท คอนราด ต่อมาในภารกิจ Gemini 8 นีล อาร์มสตรองได้รับโอกาสเป็นนักบินตัวจริงในฐานผู้บังคับการโดยมีนักบินเดวิด สก็อตต์เป็นนักบินที่สองเพื่อทำภารกิจเดินทางขึ้นสู่อวกาศเพื่อทดสอบการเชื่อมต่อกับยาน Agena ขณะอยู่ในวงโคจรของโลก

หลังจากยาน Gemini 8 เข้าเชื่อมต่อกับยาน Agena ผ่านไประยะหนึ่งยานทั้งสองลำได้โคจรเข้าสู่ด้านมืดของโลกและได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นเมื่อยานทั้งสองลำหมุนควงสว่านอย่างรวดเร็วจนควบคุมไม่ได้นักบินเดวิด สก็อตต์เหลือเพียงแค่นีล อาร์มสตรองคนเดียวที่พยายามรวบรวมสติเพื่อบังคับยานให้กลับมาอยู่ในแนวโคจรเดิมโดยการเปิดระบบการควบคุมด้วยมือ นีล อาร์มสตรองสามารถนำยาน Gemini 8 กลับโลกได้สำเร็จไม่มีนักบินอวกาศคนไหนที่พบกับเหตุการณ์เฉียดตายบนอวกาศและสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแบบนี้มาก่อน

โศกนาฏกรรมอะพอลโล 1

ความผิดพลาดของยานอะพอลโล 1 ระหว่างการทดสอบส่งผลให้นักบินรอเจอร์ แชฟฟี, เอ็ดเวิร์ด ไวท์ และ กัส กริสซอม เสียชีวิตถูกไฟเผาทั้งเป็นภายในยานอะพอลโล 1 เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อโครงการอะพอลโลเป็นอย่างมากเนื่องจากเกิดกระแสการตั้งคำถามจากสื่อมวลชนและประชาชนถึงความปลอดภัยและงบประมาณภาษีจำนวนมากที่ถูกใช้ไปกับโครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ รวมไปถึงครอบครัวของนีล อาร์มสตรองที่เริ่มกังวลว่านีล อาร์มสตรองจะไม่สามารถเดินทางกลับโลกได้

อุบัติเหตุยานทดสอบ Lunar Landing Research Vehicles (LLRV)

หลังจากโศกนาฏกรรมอะพอลโล 1 โครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ยังคงดำเนินต่อไป นีล อาร์มสตรองได้รับภารกิจให้ทดสอบยาน Lunar Landing Research Vehicles (LLRV) ยานต้นแบบสำหรับลงจอดบนดวงจันทร์แต่ได้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการทดสอบขึ้นยานเกิดระเบิดอย่างรุนแรงโดยนีล อาร์มสตรองดีดตัวหนีออกมาได้ทันก่อนเพียงเสี้ยววินาทีจนทำให้ได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้า เหตุการณ์นี้ได้เริ่มความตึงเครียดและความกังวลให้กับครอบครัวของนีล อาร์ทสตรองมากขึ้น

เดินทางไปดวงจันทร์โดยยานอะพอลโล 11

นีล อาร์มสตรองออกเดินทางไปดวงจันทร์พร้อมนักบินอีก 2 คน คือ ไมเคิล คอลลินส์และบัซซ์ อัลดริน ในวันที่ 16 กรกฎาคม 1969 จรวด Saturn V ทะยานขึ้นสู่อวกาศจากฐานปล่อยจรวดหมายเลข LC-39A ศูนย์อวกาศเคนเนดี ยานอะพอลโล 11 ประกอบด้วยนายอวกาศ 2 ลำเชื่อมต่อกัน คือ ยานบังคับการ (Command/Service Module) ทำหน้าที่ควบคุมภารกิจและใช้เป็นที่อยู่ของนักบินอวกาศตลอดเส้นทาง ยานลูน่า (Lunar Module) ทำหน้าที่เป็นยานที่ลงจอดบนดวงจันทร์ระหว่างเส้นทางเดินทางไปดวงจันทร์ยานบังคับการจะทำการหมุนตัว 1 รอบเพื่อเชื่อมต่อส่วนตัวของยานเข้ากับยานลูน่าซึ่งในภาพยนตร์ First Man ทำฉากการหมุนตัวของยานได้ออกมาดีมาก ๆ

(ภาพเหตุการณ์จริง) ยานลูน่า (Lunar Module) ฉากหลังเป็นโลกและดวงจันทร์
(ภาพเหตุการณ์จริง) ยานลูน่า (Lunar Module) ฉากหลังเป็นโลกและดวงจันทร์

เมื่อเดินทางเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ยานบังคับการได้แยกตัวออกจากยานลูน่า โดยยานบังคับการที่มีไมเคิล คอลลินส์รับหน้าที่ควบคุมจะโคจรรอบดวงจันทร์ต่อในขณะที่ยานลูน่าที่มีนีล อาร์มสตรองและบัซซ์ อัลดรินจะลงจอดบนดวงจันทร์ ระหว่างการลงจอดบนดวงจันทร์นั้นได้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นเมื่อพื้นที่บนดวงจันทร์ที่ถูกเลือกเป็นจุดลงจอดนั้นสภาพพื้นผิวไม่เอื้ออำนวยให้ยานลงจอดทำให้นีล อาร์มสตรองและบัซซ์ อัลดรินต้องเลือกพื้นที่อื่นภายใต้เงื่อนไขของพลังงานในยานที่ใกล้จะหมดซึ่งอาจส่งผลให้ต้องยกเลิกการลงจอดบนดวงจันทร์ นีล อาร์มสตรองสามารถควบคุมยานไปยังจุดจอดอื่นบริเวณที่เรียกว่า “ทะเลแห่งความเงียบสงบ” (Mare Tranquilitatis) ได้สำเร็จ

ที่มาของข้อมูล
firstman.com

Peerapat Chuejeen

Name : Peerapat Chuejeen "M" Tel : 086-5930737 E-mail : maspirecreation@gmail.com Facebook : www.facebook.com/peerapat.chuejeen Twitter : https://twitter.com/aspirecreation

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *