กองทัพเรือดำน้ำจีนหนึ่งในกองทัพเรือดำน้ำขนาดใหญ่ของโลก

กองทัพเรือดำน้ำจีนหนึ่งในกองทัพเรือดำน้ำขนาดใหญ่ของโลก กองทัพเรือดำน้ำกองทัพปลดแอกประชาชน หรือ The People’s Liberation Army Navy Submarine Force (PLANSF) จีนจัดแบ่งกองทัพเรือดำน้ำจีนออกเป็น 3 กองเรือได้แก่กองเรือดำน้ำะทะเลเหนือฐานทัพเรืออยู่ที่เมืองชิงเต่า กองเรือดำน้ำทะเลตะวันออกฐานทัพเรืออยู่ที่เมืองนิมโบและกองเรือดำน้ำทะเลใต้ฐานทัพเรืออยู่ที่เมืองยู้หลินบนเกาะไหหลำ ข้อมูลที่เปิดเผยพบว่ากองเรือดำน้ำจีนประกอบด้วยเรือดำน้ำแบบต่าง ๆ ประมาณ 66 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ประมาณ 20 ลำ

แนวคิดการพัฒนากองทัพเรือดำน้ำของจีนเริ่มต้นในช่วงปี 1950 แม้ในช่วงแรกจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากอดีตสหภาพโซเวียตหรือประเทศรัสเซียในปัจจุบันแต่ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องหยุดชะงักหลังจากความสัมพันธ์ทางการเมืองของทั้งสองประเทศหยุดลงในช่วงปี 1956 ทำให้โครงการพัฒนากองทัพเรือดำน้ำของจีนล้าช้าตามไปด้วย

จนกระทั่งในช่วงปี 1967 จีนเริ่มต้นสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์รุ่นแรกของจีนโดยใช้ชื่อว่า Type 091 หรือเรือดำน้ำชั้น Han-Class ซึ่งจีนใช้ความพยายามในการพัฒนาเรือดำน้ำรุ่นนี้อยู่เกือบ 20 ปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จในปี 1990 อย่างไรก็ตามเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์รุ่นแรกของจีนที่ประสบความสำเร็จเป็นเรือดำน้ำรุ่น Type 092 หรือเรือดำน้ำชั้น Xia Class ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพียงลำเดียวประจำการในปี 1987

สำหรับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่เป็นรุ่นสุดยอดของจีนนั้นคือรุ่น Type 094 หรือเรือดำน้ำชั้น Jin-Class มีระวางขับน้ำประมาณ 11,000 ตัน ความยาวตลอดลำตัวเรือ 135 เมตร ติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป (Intercontinental ballistic missile) รุ่น JL-2 หรือ Julang-2 คำว่า Julang ในภาษาจีนแปลว่าคลื่นยักษ์ ประมาณ 12 ลูก ขีปนาวุธแต่ละลูกสามารถติดหัวรบทำลายล้างนิวเคลียร์ได้มากกว่า 1 หัวรบทำให้การยิงขีปนาวุธจากเรือดำน้ำรุ่นนี้สามารถโจมตีหลายเมืองได้พร้อม ๆ กัน

สำหรับเรือดำน้ำที่กองทัพเรือไทยสั่งซื้อจากประเทศจีนนั้นเป็นเรือดำน้ำรุ่น S26T ที่ถูกพัฒนามาจากเรือดำน้ำรุ่น Type 039A หรือเรือดำน้ำชั้น Yuan-Class เพื่อการส่งออกให้กองทัพเรือต่างประเทศ เรือดำน้ำรุ่น Type 039A ประจำการในกองทัพเรือจีนครั้งแรกในช่วงปี 2006 เข้าประจำการประมาณ 17 ลำ มีระวางขับน้ำประมาณ 3,600 ตัน ความยาวตัวเรือประมาณ 77.6 เมตร ใช้พลังงานดีเซล-ไฟฟ้า ความเร็วสูงสุดใต้น้ำประมาณ 37 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดำน้ำลึกสูงสุด 550 เมตร ดำน้ำได้นาน 21 วันโดยไม่โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำ ติดตั้งท่อยิงตอร์ปิโด 6 ท่อยิงพร้อมระบบขีปนาวุธต่อต้านเรือ (Anti-Ship Missiles) ยิงจากใต้น้ำขึ้นสู่ผิวน้ำทำลายเรือบนผิวน้ำและเป้าหมายบนชายฝั่ง ระบบขับเคลื่อนแบบไร้ฟองอากาศ Air-Independent Propulsion (AIP) กำลังพลประมาณ 60 นาย

ทั้งนี้ขีดความสามารถข้างต้นเป็นของเรือดำน้ำชั้น Type 039A หรือเรือดำน้ำชั้น Yuan-Class ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าที่กองทัพเรือไทยสั่งซื้อทั้ง 3 ลำมีขีดความสามารถเหมือนกันหรือเปล่า มูลค่าเรือดำน้ำทั้งหมดประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท กองทัพเรือไทยแบ่งจ่ายผ่อนเป็นรายปีระยะเวลารวมประมาณ 11 ปี นอกจากนี้กองทัพเรือไทยยังสั่งซื้อเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำรุ่น Type 071E landing platform dock (LPD) จำนวน 1 ลำ จากประเทศจีนมูลค่า 6,100 ล้านบาทเพิ่มเติมอีกด้วย

ที่มาของข้อมูล

People’s Liberation Army Navy Submarine Force

Peerapat Chuejeen

Name : Peerapat Chuejeen "M" Tel : 086-5930737 E-mail : maspirecreation@gmail.com Facebook : www.facebook.com/peerapat.chuejeen Twitter : https://twitter.com/aspirecreation