จรวด Falcon Heavy ประสบความสำเร็จส่งดาวเทียม 24 ดวง

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนบริษัท SpaceX ประสบความสำเร็จในการส่งจรวด Falcon Heavy พร้อมดาวเทียม 24 ดวงขึ้นสู่อวกาศภายใต้ภารกิจ STP-2 จากฐานปล่อยจรวดหมายเลข LC-39A ศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดาประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นการทำภารกิจขนส่งอวกาศเชิงพาณิชย์ที่ประสบความสำเร็จครั้งที่ 2 ของจรวด Falcon Heavy (ไม่รวมภารกิจทดสอบจรวด)

ภารกิจ STP-2

ภารกิจ STP-2 เป็นภารกิจที่มีความยากมากที่สุดของจรวด Falcon Heavy เนื่องจากการปล่อยดาวเทียมต้องแบ่งออกเป็น 3 ช่วงโดยมีตำแหน่งที่แตกต่างกันทำให้จรวด Falcon Heavy สเตทที่สองต้องติดเครื่องยนต์เป็นระยะขณะโคจรในอวกาศเพื่อไปยังตำแหน่งที่ถูกต้องก่อนปล่อยดาวเทียมหมดทั้ง 24 ดวง

ดาวเทียมทั้ง 24 ดวงที่ถูกปล่อยในภารกิจครั้งนี้ประกอบด้วย ดาวเทียม FormoSat-7 ตรวจสอบสภาพอากาศของประเทศไต้หวัน , ดาวเทียม Prox-1 และ ISAT ดาวเทียมเพื่อการทดลองวิทยาศาสตร์ของกองทัพอากาศสหรัฐ , ดาวเทียม GPIM ของนาซ่า , ดาวเทียม DSAC นาฬิกาอะตอม , ดาวเทียม LightSail 2 เพื่อการทดสอบการเคลื่อนที่ด้วยพลังงานอาทิตย์ในวงโคจรโลก คล้ายการทำงานของใบเรือในอวกาศ , ดาวเทียม ELaNa 15 จำนวน 3 ดวงที่เป็นผลงานการพัฒนาของนาซ่าร่วมกับนักศึกษาวิศวกรรม , ดาวเทียม NPSAT-1 , ดาวเทียม Prox-1 , ดาวเทียม OTB , ดาวเทียม E-TBEx-A และ B , ดาวเทียม PSAT/BRICSat , ดาวเทียม ARMADILLO , ดาวเทียม DOTSI , ดาวเทียม TEPCE และดาวเทียม Oculus-ASR ที่พัฒนาโดยกองทัพอากาศสหรัฐร่วมกับมหาวิทยาลัย Michigan Technological University เพื่อใช้งานสังเกตการณ์ตรวจสอบยานอวกาศ

นอกจากนี้จรวด Falcon Heavy ยังบรรทุกเถ้ากระดูกของมนุษย์ 152 คนที่ว่าจ้างบริษัท Celestis Memorial Spaceflights ให้นำไปปล่อยในอวกาศ โดยมีราคาอยู่ที่ประมาณ 154,000 บาทต่อเถ้ากระดูกมนุษย์ 1 คนบรรจุในแคปซูลขนาดเล็ก ในอนาคตบริษัท Celestis Memorial Spaceflights มีแผนนำเถ้ากระดูกมนุษย์ไปดวงจันทร์โดยมีราคาอยู่ที่ประมาณ 384,000 บาทต่อเถ้ากระดูกมนุษย์ 1 คน

จรวด Falcon Heavy

จรวด Falcon Heavy ปัจจุบันเป็นจรวดที่ทรงพลังมากที่สุดในโลกที่ยังสามารถทำภารกิจ บริษัท SpaceX ได้ทำการทดสอบปล่อยจรวด Falcon Heavy ขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกในปี 2018 และการทำภารกิจส่งดาวเทียม Arabsat-6A ขึ้นสู่อวกาศในเดือนเมษายนที่ผ่าน นับเป็นครั้งแรกที่จรวด Falcon Heavy ปฏิบัติภารกิจในเวลากลางคืน

เทคโนโลยีของจรวดนั้นใช้การนำจรวด Falcon 9 จำนวน 3 ลำมาทำงานร่วมกันประกอบด้วยจรวดแกนกลาง (Center Core) 1 ลำทำหน้าที่เป็นจรวดบรรทุกดาวเทียมแบ่งการทำงานออกเป็น 2 สเตท จรวดบูสเตอร์ (Boosters) 2 ลำด้านข้างทำหน้าที่ร่วมกับจรวดแกนกลางขนส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ

เมื่อทำภารกิจเสร็จสิ้นจรวดจรวดทุกลำสามารถเดินทางกลับมาลงจอดบนฐานและเรือโดรนไร้คนขับที่ออกเดินทางไปรับจรวดกลางมหาสมุทร เพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ เทคโนโลยีนี้ช่วยให้บริษัท SpaceX สามารถลดต้นทุนในการขนส่งดาวเทียมแต่ละภารกิจลงได้หลายเท่าตัว

นอกจากนี้บริษัท SpaceX ยังใช้เรือชื่อ Ms. Tree (ชื่อเดิม Mr. Steven) ที่ถูกดัดแปลงพิเศษติดตั้งตาข่าวขนาดใหญ่ด้านบนของเรือเพื่อใช้ดักจับฝาครอบ Fairing ของจรวด Falcon Heavy และนับเป็นครั้งแรกที่เรือสามารถจับฝาครอบ Fairing ของจรวดได้สำเร็จ โดยฝาครอบ Fairing นี้เป็นส่วนที่หัวของจรวดที่ใช้ปกป้องดาวเทียวขณะจรวดทะยานขึ้นสู่อวกาศ ฝาครอบ Fairing มีมูลค่าสูงการนำกลับมาใช้งานสามารถช่วยลดต้นทุนการขนส่งจรวดในภารกิจครั้งต่อไปได้ บริษัท ​SpaceX เป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวที่ใช้วิธีการนำเรือติดตั้งตาข่ายวิ่งดักจับฝาครอบ Fairing ของจรวด

แม้ภารกิจ STP-2 จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแต่ขณะที่จรวดแกนกลาง (Center Core) พยายามเดินทางกลับโลกเพื่อลงจอดบนโดรนไร้คนขับชื่อ Of Course I Still Love You กลางมหาสมุทรได้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นจรวดลงจอดพลาดเป้าหมาย ส่วนจรวดบูสเตอร์ (Boosters) อีก 2 ลำสามารถเดินทางกลับมาลงจอดบนฐานได้สำเร็จ

คลิปวิดีโอการภารกิจ STP-2 MISSION

ที่มาของข้อมูล

STP-2 MISSION
SpaceX Falcon Heavy Rocket Lofts 24 Satellites in 1st Night Launch
SpaceX is about to launch 152 dead people’s remains into orbit aboard a Falcon Heavy rocket
SpaceX Boat Snags Falling Payload Fairing in Historic First

Peerapat Chuejeen

Name : Peerapat Chuejeen "M" Tel : 086-5930737 E-mail : maspirecreation@gmail.com Facebook : www.facebook.com/peerapat.chuejeen Twitter : https://twitter.com/aspirecreation