ชวนดูหนังไซไฟ แบบคอไซไฟ (บทนำ)

หากถามว่ามีภาพยนตร์ไซไฟเรื่องใดที่สมควรแก่การหามาชมเพื่อเอาไว้ต่อยอด (หรือเอาไปโม้ – มโนต่อกับเพื่อนๆ) โดยไม่ต้องนึกไล่เรียง นี่คือคือรายการ ’ของตาย’ ของบรรดาแฟนหนังในแนวทางนี้ ที่โดยคุณูปการของตัวหนังทำให้เชื่อได้ว่าคงมีน้อยคนที่จะไม่เคยผ่านสายตา และในเดือนนี้เราจะมีบทความที่จะพูดถึงในบางแง่มุมของภาพยนตร์ในลิสต์นี้ไปทีละเรื่อง เป็นแง่มุมที่อาจจะช่วยจุดประกายหรือทบทวนประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ ซึ่งแฟนหนังส่วนใหญ่หลงลืมหรือมองข้ามไป

การจัดลำดับนี้มุ่งพิจารณาบริบทด้านองค์ประกอบที่ถือเป็นแม่แบบของหนังแนวนิยายวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ ไม่ได้มุ่งตีความในเชิงวิจารณ์คุณค่างานศิลปะ รวมถึงไม่มีนัยสำคัญในการเรียงลำดับ และนี่คืออารัมภบท

1. 2001 : A Space Odyssey (1968)
ยิ่งกว่าของตาย พูดกันว่าอย่าบังอาจเรียกตัวเองเป็นคอหนังไซไฟโดยเด็ดขาดหากยังไม่ได้เฉียดกรายหนังเรื่องนี้ สร้างโดยคนทำหนังคนแรกๆ ที่วงการพร้อมใจมอบฉายา’เด็กอัจฉริยะแห่งฮอลลีวู้ด’ให้ สแตนลีย์ คูบริก ทำหนังเรื่องนี้ด้วยการระดมนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าในยุคนั้นมาช่วยกันคิดถึงสิ่งที่น่าจะเป็นในปีค.ศ.ตรงตามชื่อเรื่อง เราจึงได้เห็นมอนิเตอร์สีจอแบน, ยานโมดูลซ่อมบำรุงขนาดกะทัดรัด ,คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ผู้ช่วยนักบิน ฯลฯ ในภาพยนตร์ซึ่งถูกสร้างขึ้นก่อนที่โลกจะส่งมนุษย์ขึ้นไปเดินบนดวงจันทร์เรื่องนี้

2. Alien Quadrilogy (Alien / Aliens / Alien 3 / Alien Resurrection) (1979 – 1997)
แม้โดยบริบทจะมีความเป็นไซไฟในเชิงนิยามไม่มากเท่ากลิ่นไอหนังสยองขวัญในฉากอวกาศอนาคต ทว่า หนังเรื่องก็นี้ได้แหวกถางหนทางใหม่ๆ ให้คนดูเห็นว่าไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเรื่องแฟนตาซีและการคาดเดาถึงวิทยาการใหม่ๆ เสมอไป แต่อะไรก็ไม่เท่ากับการสถาปนาตัวละครเอกเพศหญิงครั้งสำคัญในโลกภาพยนตร์ ก่อนที่’เธอ’หนึ่งเดียวคนนี้จะถูกยกให้เป็น’มารดา’แทบทุกสถาบัน

3.Blade Runner (1982)
หนังล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเมื่อออกฉายครั้งแรก ทว่าทองแท้ย่อมไม่แพ้ไฟ และไม่ว่า‘เบลดรันเนอร์’จะเป็นหนังที่มาก่อนยุคสมัยหรือไม่ก็ตาม แต่ท่ามกลางพล็อตอันซับซ้อนแออัดไปด้วยสัญลักษณ์ – การได้นั่งดูฉากโลกอนาคตในหนังเรื่องนี้สักครั้งในชีวิต แทบจะถือเป็นข้อบังคับ

4. The Matrix Trilogy (1999 – 2003)
ในแง่หนังไซไฟเชิงปรัชญา ไตรภาคเดอะ เมทริกซ์ อาจไม่ใช่กรณีศึกษาที่ดีที่สุด (มีการ์ตูนญี่ปุ่นชั้นเยี่ยมหลายสิบเรื่องปรากฎขึ้นก่อนการมาของไตรภาคเรื่องนี้) แต่ด้วยความเป็น’หนังฮอลลีวู้ด’นั่นเองที่ทำให้เข้าถึงคนดูจำนวนมากได้ แต่ไม่อาจปฏิเสธว่ามันมีมนต์เสน่ห์บางอย่างที่ดึงดูดให้เรากลับไปถกเถียงกันถึงคำถามที่ว่า ‘What is Matrix’ ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

5. Star Trek (1966 ถึงปัจจุบัน)
จากหนังชุดทางโทรทัศน์ที่กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของอเมริกา แต่ในแง่สารสาระ คงไม่เกินเลยหากจะพูดว่า สตาร์เทร็ค คือภาพสะท้อนจากจิตใต้สำนึกของมนุษยชาติที่มุ่งหวังและเรียกร้องอนาคตในอุดมคติ นั่นคือ ความเป็นเอกภาพ เพราะไม่เช่นนั้นเราก็คงไม่มีวันไปถึงซึ่ง “อวกาศ พรมแดนด่านสุดท้าย… การสำรวจโลกใหม่ ค้นหารูปแบบชีวิตใหม่ และอารยธรรมใหม่ ท่องไปอย่างกล้าหาญ สู่ที่ซึ่งไม่มีใครไปมาก่อน”

6. Star wars (1977 ถึงปัจจุบัน)
เป็นยิ่งกว่าหนัง เพราะถูกนับเป็นปรากฎการณ์วัฒนธรรมเช่นเดียวกับสตาร์ เทร็ค และแม้จะมีความเป็นไซไฟโดยนิยามไม่เข้มข้นเท่า แต่ปรัชญาและแนวคิดในหนังก็เป็นที่พูดถึงตีความตลอดมา รวมถึงรายละเอียดมหาศาลที่ล้วนน่าตื่นตะลึง และเมื่อถึงจุดที่ความนิยมพุ่งสูงจนวัดระดับไม่ได้ มันก็ถูกเปรียบเป็นลัทธิ โดยมีบรรดาสาวกทั่วโลกพร้อมใจกันยกย่องให้จอร์จ ลูคัส ผู้ให้กำเนิดแฟรนไชส์ มีสถานะเทียบเท่าศาสดา

Peerapat Chuejeen

Name : Peerapat Chuejeen "M" Tel : 086-5930737 E-mail : maspirecreation@gmail.com Facebook : www.facebook.com/peerapat.chuejeen Twitter : https://twitter.com/aspirecreation