ทดสอบ Hyperloop ขนส่งผู้โดยสารครั้งแรกของโลก

บริษัท Virgin Hyperloop ประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบขนส่ง Hyperloop ขนส่งผู้โดยสารครั้งแรกของโลก โดยแคปซูลโดยสารที่เรียกว่า Pod ขนส่งผู้โดยสาร 2 คน คือ จอช เกียเกล ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทและซารา ลุคยัน ผู้อำนวยการฝ่ายประสบการณ์ลูกค้าของบริษัทร่วมทดสอบด้วยตัวเอง จอช เกียเกลเคยเป็นอดีตวิศวกรของบริษัท SpaceX แคปซูลวิ่งในท่อสูญญากาศความยาว 500 เมตร โดยใช้เวลาเพียง 15 วินาที ด้วยความเร็วประมาณ 172 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เทคโนโลยี Hyperloop เป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา แนวคิดหลักของเทคโนโลยีใช้เทคโนโลยีรถไฟพลังแม่เหล็กไฟฟ้าวิ่งในท่อสูญญากาศทำให้สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงเนื่องจากไร้แรงต้านของอากาศ โดยทฤษฎีเทคโนโลยี Hyperloop ที่นำเสนอโดยอีลอน มัสก์และทีมงานวิศวกรของบริษัท SpaceX ในปี 2013 เทคโนโลยี Hyperloop สามารถทำความเร็วได้มากกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วกว่ามากกว่ารถไฟความเร็วสูงและเครื่องบินโดยสาร

บริษัท Virgin Hyperloop ก่อตั้งในปี 2014 เดิมนั้นมีชื่อบริษัทว่า Hyperloop ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Hyperloop One ในปี 2016 และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Virgin Hyperloop One หลังจากการเข้ามาลงทุนของกลุ่มบริษัท Virgin ในช่วงปี 2017 ก่อนใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า Hyperloop One ในปัจจุบันบริษัทสร้างเส้นทางทดสอบ Hyperloop บริเวณทะเลทรายรัฐเนวาดาระยะทางทดสอบช่วงแรก 300 เมตร ก่อนเพิ่มความยาวเป็น 500 เมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ใช้ทดสอบในปัจจุบัน

สำหรับแคปซูล Hyperloop บริษัทพัฒนาแคปซูลตัวแรกชื่อว่า XP-1 ความยาวประมาณ 8.7 เมตร สูง 2.4 เมตร ทดสอบครั้งแรกแบบไม่มีผู้โดยสารในช่วงปี 2017 ทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับแคปซูลโดยสารที่เพิ่งใช้ทดสอบแบบมีมนุษย์โดยสารถูกพัฒนาต่อยากแคปซูล XP-1 ยังไม่ทราบชื่อของรุ่นแคปซูล ปัจจุบันบริษัทมีแผนการสร้างศูนย์การพัฒนา Hyperloop แห่งใหม่บริเวณตอนเหนือของรัฐเท็กซัส

คลิปวิดีโอการทดสอบ Hyperloop ขนส่งผู้โดยสารครั้งแรกของโลก

แผนการของบริษัท Virgin Hyperloop ในช่วงปี 2016 บริษัทได้ลงนามข้อตกลงกับดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อสร้างระบบขนส่ง Hyperloop แห่งแรกของโลก โดยในระยะแรกใช้ระบบขนส่ง Hyperloop เพื่อการขนส่งสินค้าด้วยความเร็วสูงก่อนพัฒนาเป็นระบบขนส่งผู้โดยสารที่เป็นมนุษย์ในลำดับต่อไป นอกหลายเมืองในสหรัฐอเมริกายังมีอีกหลายประเทศให้ความสนใจเทคโนโลยีของบริษัท Virgin Hyperloop เช่น สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย อังกฤษ เอสโตเนีย อินเดีย

อ่านเพิ่มเติม : จีนเตรียมสร้าง Hyperloop ระยะทาง 10 กิโลเมตรที่มณฑลกุ้ยโจว

แม้การทดสอบแคปซูล Hyperloop ครั้งแรกของโลกประสบความสำเร็จแต่เทคโนโลยี Hyperloop ยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการวิจัยพัฒนาอีกระยะหนึ่งถึงจะมีการเปิดใช้งานสำหรับขนส่งมนุษย์เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตามเทคโนโลยี Hyperloop มีความเป็นไปได้สูงในการถูกนำมาใช้งานจริง นอกจากบริษัท Virgin Hyperloop ยังมีอีกหลายบริษัททั่วโลกกำลังวิจัยพัฒนา Hyperloop ในช่วงไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้อาจได้เห็นระบบขนส่ง Hyperloop เกิดขึ้นจริงในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือประเทศจีน มณฑลกุ้ยโจว ซึ่งประเทศจีนเลือกใช้เทคโนโลยีของบริษัท HyperloopTT

หากย้อนไปเมื่อหลาย 10 ปีก่อน ในยุครถไฟไอน้ำมันยากที่จะเชื่อว่าญี่ปุ่นจะพัฒนารถไฟหัวกระสุนได้สำเร็จ หากย้อนมองไปเมื่อ 10 ปีก่อนยากที่จะเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้า Tesla หรือแบรนด์อื่น ๆ จะถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ เราควรตั้งคำถามต่อไปอีกว่าใน 10 ปีข้างหน้าระบบขนส่ง Hyperloop จะเป็นอย่างไร ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ที่มาของข้อมูล

Virgin Hyperloop hits important milestone as it carries out first journey with passengers
First Passengers Travel Safely on a Hyperloop

Peerapat Chuejeen

Name : Peerapat Chuejeen "M" Tel : 086-5930737 E-mail : maspirecreation@gmail.com Facebook : www.facebook.com/peerapat.chuejeen Twitter : https://twitter.com/aspirecreation